อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นแหล่งสวนผลไม้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในเขตภาคเหนือตอนล่าง ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดินและภูมิปัญญาการทำสวนบนเขตพื้นที่สูงที่สืบทอดกันมายาวนานนับร้อยๆ ปี ได้ผลิดอกออกผลเป็นเม็ดเงินที่ไหลเวียนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของท้องถิ่น ปัจจุบันพืชผลที่สร้างรายได้ให้ชาวสวนที่นี่คือ ลางสาด ลองกอง และทุเรียน โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์หลินกับหลง ซึ่งเป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองที่มีชื่อเสียงและราคาแพง หากย้อนกลับไปในอดีต เรือกสวนในอำเภอลับแลยังมีหมากและมะพร้าว ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้สำคัญที่ต้องปลูกไว้ประจำบ้าน
เรือกสวนเก่าเมืองลับแล
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกถึงสภาพของเมืองลับแลไว้เมื่อครั้งเสด็จไปตรวจราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ พ.ศ. 2441 ความว่า “ถึงทำเนียบที่พักเมืองลับแล จะหาพื้นที่แห่งใดในหัวเมืองฝ่ายเหนืองามเท่าเปนไม่มี เพราะเปนที่ว่างอยู่ระหว่างเขา แลเนินล้อมรอบ แลในนั้นยังมีเขามอเล็กๆ ซับซ้อนกันไป พื้นที่เปนนาบ้าง เปนบ้านบ้าง เปนสวนบ้าง ถ้าจะเดินเที่ยวเล่นก็มีทางวกเวียนไปไม่มีที่สิ้นสุด ที่ดินอุดมจะปลูกพรรค์ผลไม้อย่างใดงอกงามดีทุกอย่าง ที่นาก็ดี ด้วยมีลำห้วยผ่านไป ราษฎรทำฝายคือทำนบกั้นน้ำขึ้นไว้ให้สูง แล้วทำรางไขน้ำไปใช้ตามเรือกสวนไร่นา เข้ามักจะงามบริบูรณ์ไม่ใคร่เสีย”
นาข้าวบริเวณพื้นที่ราบใน ต. ฝายหลวง มองจากม่อนอารักษ์ ส่วนบนภูเขาเป็นแหล่งทำสวนผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน ลองกอง และลางสาด
ถึงแม้ว่าลับแลจะเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่มีดินดีอุดมสมบูรณ์ แต่ใช่ว่าน้ำฝนน้ำท่าจะบริบูรณ์ตามไปด้วย จึงต้องมีระบบจัดการน้ำไว้สำหรับใช้ทำนาข้าวเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่สูง ในพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 5 คราวเสด็จมณฑลฝ่ายเหนือ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2444 ทรงบันทึกไว้ว่าที่ลับแลมีฝายถึงประมาณ 30 ฝาย ฝายต่างๆ ทั้งในท้องที่ตำบลฝายหลวง แม่พูล พระศรีพนมมาศ และชัยจุมพล มีประวัติว่าริเริ่มสร้างขึ้นโดยพระศรีพนมมาศ (ทองอิน) นายอำเภอลับแลในสมัยนั้น อย่างไรก็ดี เรือกสวนของเมืองลับแลนั้น แทบไม่ได้พึ่งพาน้ำจากเหมืองฝายเท่าไหร่นัก มีคำกล่าวว่า “ปล่อยทิ้งไว้ให้เทวดาเลี้ยง” หมายถึงผลผลิตจะดีมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน
สวนที่ลับแลในสมัยก่อนไม่ได้มีระบบระเบียบที่ชัดเจน เพียงแต่ปล่อยให้พืชพันธุ์เจริญงอกงามตามธรรมชาติ ยืนต้นเบียดเสียดกันจนเป็นสวนป่าอยู่รายรอบบ้าน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกล่าวถึงสวนเมืองลับแลไว้ใน จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก เมื่อครั้งเสด็จขึ้นไปตรวจงานปั้นหุ่นถ่ายแบบพระพุทธชินราช เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2444 ความว่า “สวนนั้นหาได้เหมือนกรุงเทพไม่ จะเรียกว่าป่าต้นผลไม้ก็ได้ มีหมาก มพร้าว ทุเรียน แลอะไรๆ ขึ้นยัดเยียดกันอยู่บนแผ่นดินรายๆ เมื่อมานี้กำลังเปนฤดูทุเรียนสุก มีกลิ่นข้าพเจ้าเห็นว่าเหม็นตลอดไปทั้งนั้น”
สวนผลไม้แบบสวนป่า (Forest Type) มีต้นทุเรียนปลูกปะปนกับต้นหมากและมะพร้าวที่เชิงเขาใน อ. ลับแล
บันทึกภาพเมื่อ พ.ศ. 2494 โดย Robert Larimore Pendleton (ภาพ: www.collections.lib.uwm.edu)
สวนในบริเวณบ้านที่ ต. ฝายหลวง ปลูกพืชผลหลายชนิดคละกัน ในภาพเป็นค้างต้นดีปลี ซึ่งเป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่ง
ปัจจุบันลักษณะเรือกสวนในอำเภอลับแลที่มีสภาพเช่นนี้ยังคงมีให้เห็นอยู่ โดยมากเป็นสวนที่อยู่รอบๆ บริเวณบ้าน ปลูกผลไม้นานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นมะม่วง มะไฟ กระท้อน ส้มโอ กล้วย เป็นต้น แต่สวนผลไม้บางแห่งเริ่มเป็นเกษตรเชิงเดี่ยวที่มุ่งเน้นผลทางเศรษฐกิจมากกว่า เช่น สวนทุเรียน สวนลองกอง ขณะที่พืชพันธุ์บางชนิดถูกลดความสำคัญลง เช่น หมากและมะพร้าว
สวนหมาก-มะพร้าว
หมากและมะพร้าวเคยเป็นต้นไม้ที่มีอยู่มากมายในตัวอำเภอลับแล โดยเฉพาะในแถบชัยจุมพลและฝายหลวง ทุกวันนี้ยังเห็นต้นหมากและมะพร้าวขึ้นอยู่ประปรายตามสวนหลังบ้าน คำบอกเล่าของคนเก่าแก่ในอำเภอลับแลกล่าวตรงกันว่าสมัยก่อนมีต้นหมากและมะพร้าวขึ้นอยู่หนาแน่นกว่านี้หลายเท่านัก สมัยก่อนถ้าขับรถเข้ามายังอำเภอลับแลนอกจากทุ่งนาแล้ว จะเห็นต้นหมากและมะพร้าวขึ้นอยู่เป็นแนวเขียวครึ้ม มองไปแทบไม่เห็นบ้านเรือนผู้คน นอกจากใช้ประโยชน์กันในครัวเรือนแล้ว หมากและมะพร้าวยังเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนที่สำคัญอย่างหนึ่งระหว่าง “คนบ้านเหนือ” ที่อาศัยอยู่ในบริเวณเขตที่สูงของอำเภอลับแล นับตั้งแต่ตำบลฝายหลวงขึ้นไปถึงหัวดง แม่พูล และนานกกก และ “คนบ้านใต้” ที่อาศัยอยู่บริเวณที่ราบลุ่มทำนาข้าวที่อยู่ล่างลงไปในแถบตำบลทุ่งยั้ง พ่อค้าแม่ค้าจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ก็เคยมาหาซื้อหมากและมะพร้าวที่อำเภอลับแล
สวนหมากในบริเวณพิพิธภัณฑ์เรือนลับแลงโบราณ เลอลับแลง ต. ฝายหลวง อ. ลับแล จ. อุตรดิตถ์
หมากและมะพร้าวขึ้นอยู่ปะปนกันในสวนของชาวบ้าน อ. ลับแล
อาจารย์เฉลิม อินทชัยศรี คนเก่าแก่แห่งตำบลชัยจุมพลเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนที่บ้านก็ทำสวนหมากและมะพร้าวเป็นอาชีพ ครอบครัวมีเชื้อสายจีน พ่อของท่านทำอาชีพค้าข้าว รับซื้อข้าวจากแถบทุ่งยั้งและไผ่ล้อม บรรทุกใส่เกวียนไปส่งที่โรงสีข้าวใหญ่ที่ริมแม่น้ำน่านในตัวเมืองอุตรดิตถ์ ท่านยังเล่าอีกว่าสมัยก่อนบริเวณรอบๆ บ้านเป็นสวนผักและผลไม้นานาชนิด แต่ส่วนใหญ่เป็นต้นหมากและมะพร้าว คนจีนที่ลับแลในอดีตมีการทำสวนผักแบบยกร่อง โดยซื้อเมล็ดพันธุ์ผักมาจากที่อื่น ผักที่ปลูกเป็นชนิดที่ชาวจีนนิยมรับประทาน เช่น ผักกาดขาว ผักกาดหอม แต่เป็นเพียงสวนในครัวเรือน หากพอมีเหลือจึงนำไปขายหรือแบ่งปัน นอกจากนี้ แม่ของท่านยังรับซื้อลูกหมากสดเพื่อนำมาแปรรูปเป็นหมากแห้งเก็บไว้ขาย ถือเป็นกิจการใหญ่ของครอบครัวในเวลานั้น
“เมื่อก่อนที่บ้านเป็นศูนย์ทำหมาก เวลาไปตลาดเช้า แม่จะไปหาแลกลูกหมากสดมาเป็นทะลาย โดยเอาหมูไปแลก หรือซื้อด้วยสตางค์ หมากที่ได้จะนำมาหั่นเป็นชิ้นบางๆ ตากให้แห้ง ตอนกลางคืนที่บ้านจะมีลูกหลานมานั่งอยู่เต็มไปหมด เป็น 10-20 คน มาช่วยกันลงแขกหั่นหมาก เฉาะเปลือกนอกออก พอตอนเช้าก็จะเอาหมากที่หั่นแล้วไปตากบนเสื่อลำแพน พอได้ที่แล้วเก็บใส่โอ่งไว้ พอถึงหน้างานพระแท่นฯ ก็นำไปขาย นอกจากนี้ยังมีพ่อค้าแม่ค้าจากในเมืองมารับไปขายต่อ มีบางรายที่เหมาไปหมด ซื้อทีละเป็น 10-20 โอ่ง โดยจะชั่งขายกันเป็นกิโลกรัม”
การปอกหมากเพื่อเตรียมนำไปตากแห้ง เป็นกิจกรรมของผู้เฒ่าผู้แก่ที่อยู่ติดบ้าน ถือเป็นการสร้างรายได้เสริม
เนื้อในของผลหมากที่ถูกปอกเปลือกออกจนหมดแล้ว
ผลหมากที่ปอกเปลือกออกแล้ว ต้องนำไปตากให้แห้ง ก่อนนำไปฝานเป็นแผ่น ๆ
มะพร้าวก็เป็นสินค้าแลกเปลี่ยนด้วยเช่นเดียวกัน แต่ละบ้านจะมีหลักสำหรับผูกลูกมะพร้าวที่เก็บลงมาจากต้น บรรดาพ่อค้าแม่ค้าจะรู้ว่าบ้านไหนมีสวนมะพร้าวก็จะตามไปซื้อถึงที่ หากเป็นรายใหญ่อาจจะรับซื้อมากเป็นร้อยลูก นอกจากนี้ยังมีคำบอกเล่าว่าสมัยก่อนคนบ้านใต้จะนำเอาข้าวเปลือกมาแลกกับมะพร้าว
สวนมะพร้าวที่บ้านเก่าใน อ. ลับแล จ. อุตรดิตถ์
ปัจจุบันบ้านที่ยังมีสวนหมากอยู่ หากมีกำลังคนหรือพอมีเวลาว่างก็จะทำหมากแห้งเก็บไว้ใช้หรือขาย เช่นบ้านของคุณดาบฟ้า ไชยลับแลง ที่ตำบลฝายหลวง นอกจากจะมีสวนผลไม้ชนิดต่างๆ อาณาบริเวณบ้านยังเต็มไปด้วยต้นหมาก ทั้งที่มีขนาดโตเต็มที่พร้อมให้ผลผลิต และต้นเล็กๆ ที่เพิ่งแตกหน่อจากการเพาะเมล็ด คุณดาบฟ้าเล่าว่าเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครอยากปลูกต้นหมากและมะพร้าวไว้ใกล้ๆ บ้านกันแล้ว เพราะกลัวว่าลูกหมากลูกมะพร้าวจะร่วงหล่นโดนสิ่งปลูกสร้างเสียหาย เพราะปัจจุบันมีการขยายบ้านเรือนหนาแน่นมากขึ้น แต่เหตุที่บริเวณบ้านของตนเองยังเก็บสวนหมากไว้ ก็เพราะยังต้องใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ประจำปี ทั้งยังเป็นการสร้างรายได้และถือเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมหมากของลับแลไว้อีกทางหนึ่ง
คุณดาบฟ้า ไชยลับแลง กำลังหั่นผลหมากเป็นชิ้น ๆ และร้อยเป็นพวงแบบที่เรียกว่า "หมากไหม"
ผลหมาก เมื่อปล่อยทิ้งไว้ให้สุกเต็มที่สามารถนำไปเพาะพันธุ์ได้
ในวิถีชีวิตของคนลับแลมีการใช้ประโยชน์จากต้นหมากอย่างหลากหลาย หมากแห้งถูกใช้เป็นเครื่องประกอบในพิธีกรรมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพิธีเซ่นไหว้ งานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น ผู้เฒ่าผู้แก่ยังเคี้ยวหมากพลูกันเป็นกิจวัตร นอกจากนี้ส่วนประกอบต่างๆ ของต้นหมากนำมาใช้ได้หลายอย่าง เช่น ลำต้นนำมาทำรั้วบ้าน คอกสัตว์ หรือนำมาผ่าเป็นเส้นๆ ใช้เป็นโครงสานเข้ากับหญ้าคาเป็นวัสดุมุงหลังคา
ปัจจุบันหมากแห้งที่ทำเก็บไว้ใช้และขายมี 3 แบบด้วยกัน ได้แก่ 1. หมากแว่นหรือหมากอีแปะ เป็นหมากที่ฝานเป็นชิ้นบางๆ ตากแห้ง 2. หมากไหมหรือหมากเส้น วิธีทำจะนำลูกหมากอ่อนมาหั่นเป็นชิ้นๆ นำมาร้อยเป็นเส้น แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง นิยมใช้ในพิธีกรรม และ 3. ลูกหมากแก่นำมาเฉาะเปลือกออก ตากแดดให้แห้งส่งขายเป็นกิโลกรัม ใช้สำหรับนำไปผลิตสีในอุตสาหกรรม ในอดีตตลาดค้าหมากแห้งที่ใหญ่ที่สุดของลับแล คือ งานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์ ซึ่งจัดขึ้นในช่วงวันเพ็ญเดือน 3 “สมัยก่อนนั่งทำหมากแห้งแบบนี้กันทุกบ้าน ละอ่อนจะถูกฝึกให้ช่วยผู้ใหญ่ทำหมาก ช่วงก่อนเข้าฤดูหนาว ต้นหมากจะพร้อมให้ลูกพอดี เราก็จะทำหมากแห้ง ตากกับแดดจัดๆ ในหน้าหนาว เตรียมนำไปขายในงานนัสการพระแท่นฯ ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเวลาที่ต่อเนื่องกันไปพอดี”
หมากแว่นหรือหมากอีแปะ เป็นหมากที่ฝานเป็นชิ้นบางๆ ตากแห้ง
หมากที่ทำไปขายในงานนมัสการพระแท่นฯ มี 2 แบบ คือ หมากแว่นกับหมากไหม “หมากไหมสมัยก่อนจะใช้เชือกปอสานำมาร้อยหมากสดที่หั่นเป็นชิ้นเข้าด้วยกันโดยใช้เหล็กปลายแหลม เดี๋ยวนี้เปลี่ยนมาใช้เชือกพลาสติกเพราะหาได้ง่ายกว่า หมากไหมที่ลับแลนิยมร้อย 16 คำต่อ 1 เส้น ซึ่งสอดรับกับการใช้หมากในพิธีกรรมที่จะใช้หมาก 4 ท่อน ท่อนละ 4 คำ หากทำหมากไหมเส้นละ 16 คำ ก็จะตัดไปใช้ได้พอดี ไม่เสียของ” คุณดาบฟ้าเล่า หมากไหมที่นำไปตากแดดจนแห้งแล้ว จะนำมามัดรวมกันเป็น “หัว” หมากไหม 1 หัว มี 10 เส้น ราคาขาย 100-120 บาท ทั้งนี้ราคาจะขึ้นลงไม่แน่นอนในแต่ละปี ส่วนหมากแว่นเป็นนิยมมากกว่าในหมู่คนบ้านใต้ นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายหมากสด สมัยก่อนใช้วิธีการนับร้อยลูก ต่อมาเปลี่ยนเป็นชั่งกิโลกรัมโดยคิดน้ำหนักทั้งเปลือก
ผลหมากที่ถูกหั่นเป็นชิ้น ๆ นำไปตากแดด ก่อนนำมาร้อยเข้ากับเชือกเป็นหมากไหม
หมากไหมที่ตากแดดจนแห้ง เก็บไว้ขายในงานนมัสการพระแท่นศิลาอาสน์
ปัจจุบันนอกจากสวนหมากและมะพร้าวจะลดน้อยลงแล้ว คนปีนเก็บหมากในลับแลมีอยู่ไม่มากนัก ราคาค่าจ้างจะคิดเป็นรายต้น นอกจากนี้ยังมีพวกที่มาซื้อเหมาต้นจากเจ้าของสวน โดยจะเป็นผู้ดำเนินการทุกอย่างตั้งแต่ขึ้นต้นหมากไปจนถึงการขนส่งผลผลิต
ขอขอบคุณ
อาจารย์เฉลิม อินทชัยศรี, คุณดาบฟ้า ไชยลับแลง
หมายเหตุ
ข้อมูลสัมภาษณ์และภาพถ่ายเมื่อปี พ.ศ. 2561
อ่านบทความ " 'ภูเขากินได้' ชีวิต-เศรษฐกิจในสวนเมืองลับแล" โดย อภิญญา นนท์นาท ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 45 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2562)
สนใจสั่งซื้อผ่าน Line MyShop คลิก https://shop.line.me/@sarakadeemag/product/318780466